Overview on Global Surveillance and Control

วิทยากร: Nancy J.Cox Ph.D.
WHO Collaborating Center for Surveillance,
Epidemiology and Control of Influenza
Center for Disease Control and Prevention
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ

        วัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก เพื่อทราบถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ที่กำลังแพร่กระจาย เพื่อทราบถึงสถานที่และช่วงเวลาที่เชื้อแพร่กระจาย เพื่อทราบถึงระดับความรุนแรงของสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสที่มีศักยภาพในการทำให้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza pandemic) รวมถึงเพื่อทราบถึงกลุ่มอาการและอาการแสดงที่ผิดปกติ อันอาจเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

        ในปี พ.ศ. 2480 ระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่โดยองค์การอนามัยโลก ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับนานาชาติ มี National Influenza Center (WHO NIC) จำนวน 114 ห้องปฏิบัติการ จาก 83 ประเทศ ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ เพื่อแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ รวบรวมข้อมูลด้านระบาดวิทยา ส่งเชื้อไวรัสและข้อมูลไปยัง International Collaborating Center (WHO CCs) ซึ่งมีอยู่จำนวน 4 แห่ง ตั้งอยู่ที่เมือง Atlanta, London, Melbourne และ Tokyo โดยที่ WHO CCs ทั้ง 4 แห่ง ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในระดับ สายพันธุ์ จัดเตรียมข้อมูลสำหรับการผลิตวัคซีน และสนับสนุนสายพันธุ์ในการผลิตวัคซีน ทั้ง WHO NIC และ WHO CCs ทำหน้าที่ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ที่เมือง Geneva เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นรายสัปดาห์และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงให้คำแนะนำสายพันธุ์ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนแก่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ในปัจจุบันระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่โดยองค์การอนามัยโลก ในระดับ WHO NIC มีเชื้อไวรัสที่แยกได้ประมาณ 175,000 ตัวอย่างต่อปี จากผู้ป่วย 600 ถึง 1,200 ล้านคน ในระดับ WHO CCs ได้รับตัวอย่างส่งต่อประมาณ 6,500 ถึง 8,000 ตัวอย่างต่อปี ทั้ง WHO NIC และ WHO CCs ได้ทำการ sequence HA ประมาณ 1,000 ตัวอย่างต่อปี ในแง่ความท้าทายของการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่โดยองค์การอนามัยโลกคือทำอย่างไรให้ได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในระดับประเทศ ทำอย่างไรในการพัฒนาข้อมูลเฝ้าระวังของประเทศในเอเซีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา ทำอย่างไรให้การตรวจจับการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คนมีประสิทธิภาพ สำหรับในแง่ของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค ในขณะนี้ทั่วโลกมีเครือข่ายการผลิตวัคซีนทั้งที่สามารถผลิตได้แล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาการผลิตในหลายประเทศ

        สำหรับการเสริมศักยภาพการเฝ้าระวังในทวีปเอเซีย องค์การอนามัยโลกตระหนักถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังในภูมิภาคดังกล่าว ได้มีการจัดสรรงบประมาณ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังใน 9 ประเทศในเอเซีย สนับสนุนโครงการ CDC’s International Emerging Infectious Program ในประเทศไทย และโครงการ NAMARU-2 ในจาร์กาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เสริมศักยภาพเครือข่ายการเฝ้าระวังในสัตว์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งต่อเชื้อไวรัสที่แยกได้จากประเทศต่าง ๆ ไปยัง WHO NIC และ WHO CCs โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญคือ สนับสนุนการขยายเครือข่ายการเฝ้าระวังในสัตว์ พัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่าง FAO, OIE และ Animal Health Authorities ต่าง ๆ การสนับสนุนการดำเนินงานของ Western Pacific Regional Office ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีการวางแผนเพื่อรองรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับภูมิภาค และการประเมินความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีและความช่วยเหลือสำหรับประเทศใน WPRO และ SEARO สนับสนุนการดำเนินงานในประเทศเวียดนาม เพื่อพัฒนาและเสริมศักยภาพของระบบเฝ้าระวัง รวมถึงพัฒนาจัดตั้ง WHO NIC ในประเทศเวียดนาม และพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังในประเทศกัมพูชาและลาว

        ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลต่าง ๆ การเฝ้าระวังในรูปแบบ Emerging Infections Program (EIP) โดยมีโรงพยาบาลในโครงการการเฝ้าระวัง (Site) จำนวน 11 แห่ง ทำการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยทำการตรวจ Viral culture, DFA/IFA, PCR, และ rapid test ในผู้ป่วยดังกล่าวทุกราย จากการเฝ้าระวังพบว่า อัตราการ เข้ารับการรักษาใน โรงพยาบาลในเด็กอายุ 0 ถึง 4 ปี และในเด็กอายุ 5 ถึง 17 ปี เท่ากับ 0.81 และ 0.11 ต่อ 10,000 คนต่อปี ตามลำดับ สำหรับการเฝ้าระวังในรูปแบบ New Vaccine Surveillance Network (NVSN) จำนวน 3 แห่ง พบว่า ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยทำการตรวจวิเคราะห์ยืนยันด้วยวิธี viral culture and RT-PCR พบว่า อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่ากับ 2.0 ต่อ 10,000 คนต่อปี เมื่อพิจารณาถึงการป่วยตายด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จากการเฝ้าระวังดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2546 ถึง 2547 พื้นที่ 40 รัฐ พบว่า มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิต 153 ราย โดยที่ผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ค่ามัธยฐานอายุผู้ตายเท่ากับ 3.1 ปี และร้อยละ 63 ของผู้ตายอายุน้อยกว่า 5 ปี

        โรคไข้หวัดใหญ่เป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญของประชาชนอเมริกาจำนวนกว่า 280 ล้านคน ก่อให้เกิดปัญหาการเสียชีวิตได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จากการเฝ้าระวัง พบว่า ในปี พ.ศ. 2533 ถึง 2542 มีผู้เสียชีวิตที่มีอาการสัมพันธ์กับโรคไข้หวัดใหญ่เฉลี่ย 36,000 รายต่อปี สำหรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการที่สัมพันธ์กับโรคไข้หวัดใหญ่นั้น พบว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี เคยเข้ารับการักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการที่สัมพันธ์กับโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่า ในปี พ.ศ. 2522 ถึง 2544 มีประชากรมากกว่า 200,000 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการที่สัมพันธ์กับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2540 ถึง 2541 ซึ่งมีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ H3N2 พบว่า มีประชากรมากกว่า 430,000 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการที่สัมพันธ์กับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยพบจำนวนผู้ป่วยสูงที่สุดในกลุ่มอายุ มากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี และพบผู้ป่วยมากในฤดูกาลที่มีการเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้ หวัดใหญ่ นอกจากปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาการเสียชีวิต และการที่ประชาชนต้องเข้ารับรักษาตัวใน โรงพยาบาลแล้ว ปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการให้บริการด้านการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องอื่น ๆ เป็นอย่างยิ่ง


<<back