WHO Recommended National and International Measures
Before and During an Influenza Pandemic

วิทยากร: WHO representative (HQ)-TBA
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ


        ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้มีแผนเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้กำหนดบทบาทและการเตรียมความพร้อมในระดับชาติและภูมิภาค แผนดังกล่าวได้ใช้มา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และในขณะนี้มีการพิจารณาจัดทำแผนฉบับใหม่ โดยพิจารณาถึงการระบาดของเชื้อ ไวรัสสัปทัยป์ H5N1
ในเอเซียที่ระบาดตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2003 พิจารณาถึงระยะต่าง ๆ ในการระบาด พิจารณาถึงคำแนะนำในการปฏิบัติการตอบสนอง พิจารณาถึงคำแนะนำสำหรับแต่ละประเทศในการพัฒนาแผนรองรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่เองในแต่ละระยะ การให้คำจำกัดความในแต่ละระยะของการระบาดสำหรับคำแนะนำการดำเนินงาน
จำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงการพบเชื้อในสัตว์และในมนุษย์ การเฝ้าระวังในระยะต่าง ๆ ความตระหนักของกระทรวงสาธารณสุขในประเทศต่าง ๆ การตอบสนองปฏิบัติการในระยะต่าง ๆ ของการระบาด และความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อที่จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
สำหรับระยะต่าง ๆ ในการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Phases) ของแผนฉบับปัจจุบันและเป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุข มีดังนี้

ระยะ (Interpandemic period ) ประกอบด้วย
Phase 1. หมายถึง ระยะที่ไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในมนุษย์จากการเฝ้าระวัง และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ที่พบในสัตว์ต้องมีความเสี่ยงต่ำที่จะติดเชื้อมายังมนุษย์ เป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระยะนี้ คือ การสร้างศักยภาพในการเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับโลก ภูมิภาค ประเทศ และระดับท้องถิ่นในแต่ละประเทศ
Phase 2. หมายถึง ระยะที่ไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในมนุษย์จากการเฝ้าระวัง แต่พบเชื้อ ไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในสัตว์และเชื้อมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อมายังมนุษย์ เป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระยะนี้คือ ลดโอกาสการติดต่อของเชื้อไวรัสมาสู่มนุษย์ โดยเน้นการ เฝ้าระวังและการตรวจจับการแพร่เชื้อให้ได้โดยเร็ว

ระยะ Pandemic alert period
Phase 3. หมายถึง ระยะที่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในมนุษย์จากการเฝ้าระวัง แต่ไม่พบการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสโดยใกล้ชิด เป้าหมายการดำเนินงานด้าน สาธารณสุขในระยะนี้คือ การตรวจวิเคราะห์เพื่อแสดงคุณลักษณะเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว และสามารถรายงานแจ้งเตือนกรณีพบผู้ป่วยรายใหม่
ระยะ Phase 4. หมายถึง ระยะที่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในมนุษย์จากการเฝ้าระวัง และพบการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ แต่พบการระบาดในวงจำกัด เป็นกลุ่มก้อนเล็ก ๆ ผลการเฝ้าระวังในระดับอณูชีววิทยาพบว่า เชื้อไวรัสยังปรับตัวทางพันธุกรรมไม่มากที่จะแพร่กระจายจากมนุษย์สู่มนุษย์ เป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระยะนี้คือ ควบคุมการแพร่กระจายให้อยู่ในวงจำกัด เพื่อมีเวลาดำเนินการในมาตรการรองรับการระบาดใหญ่
ระยะ Phase 5. หมายถึง ระยะที่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สัปทัยป์ใหม่ในมนุษย์จากการเฝ้าระวัง พบการติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ พบการระบาดขยายวงออกไป เป็นกลุ่มก้อนหลาย ๆ กลุ่มก้อน ผลการเฝ้าระวังในระดับอณูชีววิทยาพบว่า เชื้อไวรัสปรับตัวทางพันธุกรรมมากขึ้นและมีศักยภาพที่จะแพร่กระจายจากมนุษย์สู่มนุษย์ แต่ยังไม่มีศักยภาพแพร่กระจายจากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างรุนแรง เป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระยะนี้คือ ควบคุมการแพร่กระจายอย่างเต็มความสามารถและแจ้งเตือนว่าจะมีการระบาดใหญ่

ระยะ Pandemic period
ระยะ Phase 6. หมายถึง ระยะที่เชื้อไวรัสยังปรับตัวทางพันธุกรรมมากขึ้นและมีศักยภาพที่จะแพร่กระจายจากมนุษย์สู่มนุษย์อย่างรุนแรง เป้าหมายการดำเนินงานด้านสาธารณสุขในระยะนี้คือ ลดผลกระทบจากการระบาดใหญ่

การดำเนินงานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำประเทศต่าง ๆ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ด้าน ได้แก่ การวางแผนและการประสานงาน การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และการประเมินผล การควบคุมและป้องกันโรค การตอบสนองของระบบสาธารณสุข และการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ องค์การอนามัยโลกได้ดำเนินการประสานความร่วมมือและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานด้านการควบคุมการระบาดในสัตว์ รวมถึงการให้คำแนะนำในการลดการแพร่กระจายของเชื้อมายังมนุษย์

องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนการทดสอบความไวของเชื้อชนิดใหม่ต่อยาต้านไวรัส ให้คำ แนะนำในการใช้ยาเพื่อการป้องกันและการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ สนับสนุนและเตรียมความพร้อม ในแง่ข้อมูลและคลังเวชภัณฑ์ยา สนับสนุนในเรื่องวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ การจำแนก คุณลักษณะของเชื้อไวรัสและการสนับสนุนสายพันธุ์สำหรับการผลิตวัคซีน รวมถึงการวางแผนการผลิตและการวิจัยทางคลินิก

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ ไวรัสสัปทัยป์ใหม่ในการดำเนินการ คือ การควบคุมการการระบาดในสัตว์ การให้คำแนะนำและดำเนินการลดการติดต่อจากสัตว์สู่คน การเตรียมมาตรการดำเนินการเพิ่มเติมหากพบการติดเชื้อในมนุษย์ การเตรียมข้อมูลเรื่องยาต้านไวรัสในเรื่องการป้องกันและการรักษา การเตรียมความพร้อมของคลัง เวชภัณฑ์ยาต้านไวรัส การใช้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำต่างสัปทัยป์ในระยะ interpandemic สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง และแผนการใช้วัคซีนภายในประเทศอย่างเหมะสม สำหรับคำแนะนำสำหรับประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบประเทศและประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน ควรให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านระบาดวิทยาและไวรัสวิทยา การควบคุมโรค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ กับประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การควบคุมป้องกันการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด



<<back