lVirology and Immunology of Influenza Virus

วิทยากร: รศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ


        เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อยู่ใน Family Orthomyxoviridae, Genus Influenza virus แบ่งได้เป็น 3 type ได้แก่ A, B และ C โครงสร้าง ภายนอกมีโปรตีนบนผิวเซลล์ ได้แก่ Hemagglutinin และ Neuraminidase สำหรับ Hemagglutinin มี 15 ชนิด ได้แก่ H1, H2, H3 จนถึง H15 มีคุณสมบัติเป็น Glycoprotein ทำหน้าที่จับกับ Target cell สามารถทำให้เม็ดเลือดแดงเกิด Agglutination และสามารถกระตุ้น Neutralizing antibody สำหรับ Neuraminidase มี 9 ชนิด ได้แก่ N1, N2, N3 จนถึง N9 มีคุณสมบัติเป็น Glycoprotein มีหน้าที่ทำลาย Receptor ของ Target cell และสามารถกระตุ้น Partial protection immunity มีเพียง H1, H2, H3 และ N1 และ N2 เท่านั้นที่พบในมนุษย์ แต่มีรายงานการพบ H5N1, H5N2, H7N7 และ H9N2 ในสัตว์ โครงสร้างภายในของเชื้อไวรัสประกอบด้วย สารพันธุกรรมเป็นยีโนม 8 ชิ้น พบว่ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมซึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมในยีโนมอันเป็นสาเหตุให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้สูงมาก นอกจากนี้ที่ผิวเซลล์มี M2 Channel ซึ่งเป็น Target ของยาต้านไวรัสในกลุ่ม Amantadine สำหรับ Target ของยา Oseltamivir อยู่ที่ตำแหน่ง Neuraminidase

        การเรียกชื่อไวรัส เรียงตามลำดับดังนี้ ชนิดหรือทัยป์ของไวรัส เช่น A, B, หรือ C, การเพาะเชื้อได้จากมนุษย์หรือสัตว์ เช่น sw, eq, av ในกรณีจากมนุษย์ไม่ต้องระบุ, ลำดับที่เพาะเชื้อได้, ปี ค.ศ. ที่เพาะเชื้อได้, รหัสของ HN subtype เช่น H3N2, ดังตัวอย่าง A/BANGKOK/1/1979 (H3N2) พบมีการติดเชื้อได้ในสัตว์ปีก สัตว์ปีกสวยงาม คน สุกร แมว สุนัข ปลาวาฬ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง คุณสมบัติของแอนติเจนได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ Antigenic drift เป็นการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ เกิดขึ้น ที่ยีนส์ที่มีรหัสกลัยโคโปรตีนของเปลือกหุ้มโดยเฉพาะ จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและก่อให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมไม่มากนัก Antigenic shift เป็นการกลายพันธุ์ผสมผสานชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมเกิดขึ้นได้หากมีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ซ้อนกันสองชนิดพร้อม ๆ กัน ถ้าเกิดมี reassortment เมื่อใด จะเกิด antigenic shift และจะเกิดการระบาดอย่างกว้างขวาง ตามปกติไวรัส ไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก (avian viruses) ไม่ทำให้คนป่วยได้ เพราะไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์จนทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่จะติดเชื้อในหมูได้และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมจนเกิดการกลายพันธุ์ reassortants ได้ จึงเรียกหมูว่าเป็น ถังผสม

        ในการทำฟาร์มเป็ดไก่ หากมีการเลี้ยงเป็นจำนวนมาก แออัด เลี้ยงปะปนกับหมู ทำให้มีโอกาสที่หมูจะได้รับไวรัสจากสัตว์ปีกได้ง่าย หากมีโอกาสสัมผัสกับนกป่าในธรรมชาติ โดยเฉพาะนกน้ำ นกป่า ที่ย้ายถิ่นจากทางเหนือ สัตว์เลี้ยงก็จะรับเอาเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A จากนกน้ำ ส่งต่อไปยังหมู และอาจเกิดการกลายพันธุ์ได้ เหตุการณ์นี้พบได้ที่ตอนใต้ของจีน จึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ใหม่ ๆ เสมอมา (epicenter)

        เมื่อใดที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่เรียกว่า antigenic shift ก็เกิดมีสับทัยป์ของเชื้อไวรัสเอ อันจะมีลักษณะทางแอนติเจนต่างออกไปจากสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาแต่ก่อน ๆ ประชาชนเคยมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิม แต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ใหม่ จึงเกิดโรคและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (H5N1) ที่พบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมตลอดเวลา


<<back