Clinical Features and Management of Avian Influenza (H5N1)

วิทยากร: นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ


        ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2546 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกของสัตว์ปีก (H5N1) ในหลายประเทศในทวีปเอเซีย รวมถึงพบผู้ป่วยและมีผู้ป่วยเสียชีวิตใน 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย และกัมพูชา การระบาดของไข้หวัดนกเริ่มต้นครั้งแรกที่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2540 สำหรับการระบาดในประเทศไทยนั้น พบผู้ป่วยยืนยัน 17 ราย อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนของประเทศจำนวน 12 จังหวัด จากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก ได้แก่ การเก็บเนื้อไก่ป่วยตายไว้ในบ้าน (OR = 16.7, 95%CI = 33.3-84.6), การสัมผัสไก่ที่ป่วย (OR = 9.2, 95%CI = 2.3-37.2), การสัมผัสไก่ตาย (OR = 11.0, 95%CI = 11.0-45.4), แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในคนงานในฟาร์ม, ผู้ทำลายไก่ และบุคลากรทางการแพทย์

        ลักษณะเวชกรรมที่พบได้ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก อาจเป็นได้ตั้งแต่ ไม่มีอาการปรากฏ ระบบทางเดินหายใจส่วนบนเล็กน้อย ปอดอักเสบรุนแรง จนกระทั้งมีอาการอวัยวะที่สำคัญล้มเหลว ผู้ป่วย ไข้หวัดนกมีลักษณะเวชกรรม เช่น ไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ คัดจมูก ตาแดง ถ่ายเหลว ปวดอักเสบรุนแรง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน อวัยวะที่สำคัญล้มเหลว จากผู้ป่วย 17 ราย พบว่า มีอาการระบบหายใจล้มเหลว ร้อยละ 76, หัวใจวาย ร้อยละ 41, ไตวาย ร้อยละ 29, ตับวาย ร้อยละ 18, ไขกระดูกล้มเหลว ร้อยละ 6 และผู้ป่วยเสียชีวิต ร้อยละ 71 จากการศึกษาพบว่า ลักษณะ เวชกรรมและความรุนแรงที่พบในผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยและเวียดนามคล้ายคลึงกัน ซึ่งน่าเชื่อว่าสัมพันธ์กับลักษณะสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกซึ่งใกล้เคียงกันมาก ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาทางอณูชีววิทยาของเชื้อไวรัสที่ตรวจพบในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม การศึกษาลักษณะเวชกรรมของผู้ป่วยในประเทศไทย พบว่า มีอาการไข้ ไอ และเหนื่อย ร้อยละ 100, เจ็บคอ ร้อยละ 71, ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 53, มีน้ำมูก ร้อยละ 53, ถ่ายเหลว ร้อยละ 41, อาเจียน ร้อยละ 24 และปวดท้อง ร้อยละ 24 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 100 มีเม็ดเลือดขาวรวมต่ำ (median = 2,100/cumm), ร้อยละ 100 มี Lymphocyte ต่ำ (median = 700/cumm), ร้อยละ 90 มีเกล็ดเลือดต่ำ (median = 75,500/cumm), พบว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิต มีเม็ดเลือดขาวรวม และ Lymphocyte สูงกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิต พบผลเอ็กซเรย์ในระยะแรกของผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็น Lobar หรือ Patchy infiltration และพบ Interstitial infiltration จำนวน 2 ราย พบ Pleural effusion 2 ราย พบ Pneumothorax 2 ราย ในผู้ป่วยที่เสียชีวิตทุกรายพบ ARDS นอกจากนี้ มีรายงานจากประเทศเวียดนามว่า มีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในผู้ป่วยไข้สมองอักเสบที่ไม่มีอาการปอดอักเสบ

        การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสถานพยาบาล มีการคัดกรองผู้ป่วย (Triage) ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ตามแนวทางที่กำหนดขึ้น โดยอาศัยลักษณะเวชกรรมผู้ป่วย ประวัติทางระบาดวิทยา การตรวจเอ็กซเรย์ปอดและการตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคไข้หวัดใหญ่ การรักษาพยาบาลประกอบด้วย การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสที่ผลดีในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ คือ Oseltamivir แต่ต้องให้ผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ จึงมีประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่ผลการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนกยังไม่ชัดเจน การดูแลผู้ป่วย ควรแยกผู้ป่วยไว้ในห้อง Negative pressure บุคลากรด้านการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยต้อง สวมชุดป้องกัน เช่น หน้ากาก N 95, ชุดกาวน์, แว่นตา, ถุงมือ และมีการทำลายเชื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้กับ ผู้ป่วย ในกรณีที่มีการสัมผัสผู้ป่วยและไม่ได้สวมเครื่องป้องกันที่เหมาะสม หรือในผู้ที่ฆ่าสัตว์โดยไม่สวมเครื่องป้องกัน ควรได้รับยา Oseltamivir 75 mg ต่อวันเป็นระยะเวลา 7 วัน

        จากการระบาดของโรคไข้หวัดนกแพทย์ควรจะมีความตื่นตัวในการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งมีแนวโน้มในการ reassortment กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน ซึ่งมีการระบาดเป็นประจำตลอดปีทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งอาจได้ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มนุษย์เราไม่เคยรู้จักมาก่อน อันจะนำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (pandemic influenza) จากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ซึ่งจะเกิดการสูญเสียต่อชีวิตคนจำนวนมากได้ดังเช่นการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมีความเห็นว่าการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่คงหลีกเลี่ยงได้ยากและ คืบคลานเข้ามาใกล้มากแล้ว จึงควรมีการเตรียมตัวรับมือกับมหันตภัยนี้อย่างรอบคอบ

 


<<back