ระบบการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ

วิทยากร: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ
หัวหน้าศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์
และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ สวส.
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


       ตามที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะ WHO National Influenza Center ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกซึ่งรวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่ทางห้องปฏิบัติการ และพัฒนาศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อที่จะทราบถึงการการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างทันท่วงที เพื่อสนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคและการรักษาผู้ป่วย รวมถึงเพื่อเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก อันนำไสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวดใหญ่ ด้วยการพัฒนาศักยภาพวิธีการตรวจวิเคราะห์ด้วยใช้วิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) เพื่อหาสารพันธุกรรมต้องสงสัยของ เชื้อไวรัสไข้หวัดนก โดยมีการประยุกต์เทคนิคดังกล่าวขึ้นมากกว่า 1 วิธีการ เพื่อให้ได้ค่าความถูกต้องสูงที่สุด สามารถเพิ่มค่าความไวและความจำเพาะในการตรวจวิเคราะห์มากกว่าการใช้วิธีการตรวจเพียง 1 วิธีการ เทคนิคดังกล่าวสามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถคัดกรองตัวอย่างก่อนที่จะนำมาตรวจด้วยวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นวิธีการเดิมที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ และต้องใช้ระยะเวลาการตรวจถึง 10 วัน อีกทั้งต้องทำการตรวจในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 เท่านั้น การตรวจด้วยวิธี PCR ที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ชีวนิรภัยระดับ 2 ซึ่งส่งผลให้สามารถเปิดบริการตรวจวิเคราะห์ในศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศได้ ทำให้สามารถลดระยะเวลาการส่งตัวอย่างมายังห้องปฏิบัติการในส่วนกลาง นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการ โดยมีการรายงานไปยังสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และหน่วยงานควบคุมโรคในพื้นที่ ทันทีที่ได้รับตัวอย่าง สิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย มีการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ แปลผล และเผยแพร่การเฝ้าระวัง ระบบดังกล่าว มีความไวในการแจ้งเตือนการพบผู้ป่วยต้องสงสัยโดยมีความไวต่อระบบปกติมากกว่าร้อยละ 80 รวมถึงมีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกตลอดเวลา ด้วยการตรวจทางอณูชีววิทยาจาก ตัวอย่างเชื้อไวรัสที่แยกได้ มีการส่งต่อตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพในการเฝ้าระวัง รวมถึงมีการพัฒนาและจัดทำสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการรายงานผลเร่งด่วนผ่านเวบไซต์ www.cctls.org ควบคู่กับการรายงานผลการตรวจด้วยระบบโทรสาร และระบบปกติ ส่งไปยังแพทย์ผู้รักษาสถานพยาบาล และหน่วยงานควบคุมโรค ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ไปยังพื้นที่ในจังหวัดที่ติดกับชายแดน ได้แก่ ตาก หนองคาย จันทบุรี และสงขลา ทำให้ได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์เป็นตัวแทนการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการในระดับชาติและในพื้นที่เสี่ยง ทำให้ทราบถึงข้อมูลทางระบาดวิทยาของผู้ป่วย และสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญยิ่ง สำหรับใช้ในการ คัดเลือกสายพันธุ์เพื่อผลิตวัคซีนและวางแผนในการควบคุมโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศต่อไป

 


<<back