The
cost of influenza in Thailand |
วิทยากร: นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร
ผู้สรุปคำบรรยาย: นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ
การศึกษาที่นำเสนอนี้
เป็นความร่วมมือระหว่าง International Health Policy Program Thailand
และInternational Emerging Infections Program มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ในมุมมองด้านสังคม
ด้วยการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยคูณด้วยจำนวนการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่
การคำนวณคำนึงถึงผู้ป่วยที่มารักษาตัวในระบบสถานพยาบาล และการดูแลรักษาตนเอง
เช่น การซื้อยาทานเอง ระยะเวลาที่ศึกษาตั้งแต่ เดือนกันยายน 2546 ถึง
สิงหาคม 2547 โดยคำนวณถึงค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อมจากการเจ็บป่วย
รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ในทุกโรงพยาบาลของรัฐ
สำหรับผู้ป่วยทุกรายที่รักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน จะได้รับการตรวจเอ็กซ์เรย์ปอดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
เพื่อยืนยันว่า ป่วยด้วยโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยนอกที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
โดยตรวจด้วยชุดตรวจคัดกรองไข้หวัดใหญ่ ทำให้ได้รับข้อมูลที่สำคัญทางระบาดวิทยา
คือ อุบัติการผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการปอดบวมในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
และสัดส่วนผู้ป่วยนอกที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้มีประโยชน์ทำให้ทราบ จำนวนครั้งการเจ็บป่วยต่อคนต่อปี
การรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในต่อคนต่อปี พฤติกรรมการรับบริการด้านสุขภาพ
ผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ได้แก่ ผู้ป่วยที่ดูแลรักษาตนเอง, รักษาที่โรงพยาบาลชุมชน, รักษาที่โรงพยาบาลทั่วไป,
รักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย, รักษาที่คลินิกเอกชน และรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน
เท่ากับ 135, 357, 524, 605, 296, และ 599 บาทต่อครั้งตามลำดับ ในภาพรวม
มีค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ประมาณเท่ากับ 209-285 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณเท่ากับ
41-56 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปสำหรับผู้ป่วยนอกในเรื่องค่ารักษาพยาบาล
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าสูญเสียจากการหยุดงานประมาณเท่ากับ 851-1608
ล้านบาท ค่าเฉลี่ยจำนวนวันที่ต้องรับการรักษาเท่ากับ 3.28 วัน ค่าเฉลี่ยจำนวนวันที่ต้องหยุดพักเท่ากับ
4.46 วัน สำหรับอัตราการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในด้วยโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มอายุ
0-14 ปี , 15-59 ปี, อายุตั้งแต่ 60 ปี และในภาพรวมทุกกลุ่มอายุ เท่ากับประมาณ
16-126, 7-33, 73-281 และ 16-80 ต่อครั้งต่อ 100,000 ประชากร ตามลำดับ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในสำหรับผู้ป่วยอายุ
0-14 ปี, 15-59 ปี, อายุมากกว่า 60 ปี และภาพรวมทุกลุ่มอายุ เท่ากับประมาณ
16-124, 36-170, 70-269 และ 122-564 ล้านบาทตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางในภาพรวมทุกกลุ่มอายุเท่ากับประมาณ
4-18 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมในผู้ป่วยโรคปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่เท่ากับประมาณ
142-740 ล้านบาท
นอกจากนี้ในภาพรวมระดับประเทศ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
พบว่า ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 5 ปี และอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีอุบัติการการป่วยด้วยโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่น
มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลประมาณ 700,000-900,000
คนต่อปี มีผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในประมาณ 10,000-52,000
คนต่อปี ความสูญเสียในมุมมองทางสังคมของประเทศไทยประมาณ 993-2350 บาทต่อคนต่อปี
โดยที่สองในสามเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจหรือผลผลิตที่ลดลง อีกหนึ่งในสามเป็นเป็นความสูญเสียจากค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทาง
สิ่งที่ควรศึกษาเพิ่มเติมคือ ความสูญเสียที่เกิดจากการเสียชีวิต ความคุ้มค่าในการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ความสูญเสียจากการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราตายสูง
เช่น COPD, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคเบาหวาน สำหรับการตัดสินใจให้มีโครงการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชน
ต้องมีการวิเคราะห์ Cost effectiveness และผลกระทบจากงบประมาณในการทำโครงการให้ชัดเจน
โดยต้องทราบถึงความสูญเสียจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และต้นทุนของโครงการที่ใช้
<<back
|