ระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการแห่งชาติ
|
บรรยายโดย นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ
การระบาดของโรคไข้หวัดนก (Avian
influenza) เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 และมีการระบาดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
หากไม่มีการตรวจจับหรือการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกอาจพัฒนาเป็นปัญหาการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่
(Pandemic influenza)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ได้พัฒนาและดำเนินการ ระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการแห่งชาติ
ด้วยหลักแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรถึงสามารถตรวจจับการระบาดของโรคไข้หวัดนกได้เร็วที่สุด
รวมถึงทราบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีการกลายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก
และการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza) ให้มีประสิทธิภาพ
โดยศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ
เป็นผู้ประสานงานหลัก ทำงานร่วมกับ WHO National Influenza Center
ฝ่ายไวรัสระบบทางเดินหายใจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง
13 แห่ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน่วยงานควบคุมโรคทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยตรวจวิเคราะห์ยืนยันผลซึ่งกันและกัน การพัฒนาและดำเนินการได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย
การนำส่ง ตัวอย่าง ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ การรายงานผลเบื้องต้นและการยืนยันผล
โดยทุกขั้นตอนต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ และสิ่งสำคัญคือสามารถลดระยะเวลาดำเนินการให้ได้มากที่สุด
ระบบมีการกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
การประสานงานโดยเน้นการทำงานในลักษณะเครือข่าย การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
(ขณะนี้มีผู้รับการฝึกอบรมผ่านระบบมากกว่า 7,000 คน) รวมถึงได้ผลิตสื่อการสอนผ่านตำราเรียน
วีซีดี และสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าในขั้นตอนการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยและการนำส่งตัวอย่าง
มีความถูกต้องและได้ตัวอย่างที่มีคุณภาพดีขึ้น (p < 0.05) สำหรับวิธีการตรวจวิเคราะห์
WHO National Influenza Center กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกด้วยวิธี
PCR (Polymerase Chain Reaction) โดยใช้วิธีการตรวจที่แตกต่างกันมากกว่า
1 วิธี ค่าความไว (Sensitivity) ร้อยละ 100 ความจำเพาะ (Specifity)
ร้อยละ 99.8 (n = 6,000) มีค่าพยากรณ์บวกและลบที่สูงมาก (High Positive
and Negative Predictive Value) ในรายที่มีปัญหาจะทำการตรวจยืนยันซ้ำด้วย
วิธี Real-Time RT-PCR, วิธี Conventional RT-PCR, วิธี Sequencing
โดยพิจารณาใช้ Primer ที่แตกต่างกัน และหลายเทคนิคผสมผสานกัน รวมถึงมีการตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
(Viral isolation and IFA) และส่งตัวอย่างไปยืนยันที่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงในเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก
ในการระบาดรอบที่ 3 และ 4 พบการระบาดรุนแรงในบางจังหวัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนารถห้องปฏิบัติการชันสูตรเคลื่อนที่
(Mobile lab) จำนวน 2 คัน เพื่อลดระยะเวลาในการส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วย
จากการพัฒนาระบบสามารถลดระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เก็บตัวอย่างจนกระทั่งถึงห้องปฏิบัติการ
(46 ชั่วโมง ลงเหลือ 22.5 ชั่วโมง) อีกทั้งยังสามารถลดระยะเวลาการตรวจวิเคราะห์ลงได้อีก
(24 ชั่วโมง ลงเหลือ 15 ชั่วโมง) และในกรณีรถ Mobile lab สามารถลดระยะเวลาการเดินทางของตัวอย่าง
(7 ชั่วโมง ลงเหลือ 1 ชั่วโมง) รวมถึงในรายที่เร่งด่วนสามารถทราบผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นได้ภายใน
8 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบได้มีการสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการพิเศษในการเก็บวัตถุตัวอย่างในรายที่มีปัญหาการวินิจฉัย
เช่น การเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม การตรวจชันสูตรพลิกศพ
ระบบจะรายงานผลทั้งในกรณีเร่งด่วนและในกรณีปกติอย่างมีประสิทธิภาพ
มีระบบรายงานผลทันทีที่ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ โดยจะรายงานกลับไปยัง
แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย โรงพยาบาล สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หน่วยงานควบคุมโรคในระดับพื้นที่
เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต โดยรายงานผ่านระบบโทรสารไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการให้บริการ
Call center ตลอด 24 ชั่วโมง เว็ปไซต์ที่พัฒนาขึ้นมีการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายเว็ปไชต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
มีข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่จากแหล่งข้อมูลทั่วโลก
<<back
|