บทบาทของสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) ในการเตรียมรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่
Role of the Virology Association (Thailand) in Influenza Pandemic Preparedness

บรรยายโดย จันทพงษ์ วะสี
นายกสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย

        โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดทุกปีและระบาดใหญ่ทุก 10 - 20 ปี การระบาดใหญ่ระหว่างปี ค.ศ. 1916 - 1918 พบผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตประมาณ 40 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุ 15 - 40 ปี เชื้อที่แยกได้คือ influenza A (H1N1) ในปีค.ศ. 1936 เริ่มมีการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายนำมาใช้เป็นครั้งแรก และทำการศึกษาพัฒนาสืบเนื่องตลอดมา ในปี ค.ศ. 1957 เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกเป็นครั้งที่สองในศตวรรษที่ 20 เชื้อก่อโรค คือ influenza A (H2N2) และในปี ค.ศ. 1968 พบการระบาดใหญ่ครั้งที่สาม เชื้อก่อโรค คือ influenza A (H3N2) ในปีค.ศ.1977 พบเชื้อ H1N1 กลับมาระบาดใหม่

       เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในคนมีการเปลี่ยนแปลงโดยการกลายพันธุ์ (mutation) ตลอดเวลา ในอัตรา 1:10000 nucleotide transcription เข้าใจว่าเป็นผลจากการหลบหลีกแอนติบอดี (antibody selective pressure) วัคซีนที่ได้ผลจึงต้องคัดเลือกสายพันธุ์ที่พบระบาดล่าสุดมาใช้เป็นส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่แยกเป็นชิ้น 8 ชิ้น ถ้าเชื้อ 2 ชนิดติดเชื้อในเซลล์เดียวกันพร้อมกัน อนุภาคที่เกิดใหม่จะเป็นเชื้อพันธุ์ผสม (genetic reassortant) ถ้าติดเชื้อในสัตว์ปีกที่เป็นนกบก ทำให้เกิดโรคระบาด ในนกป่วยเชื้อเพิ่มจำนวนมาก มีโอกาสเกิดเชื้อกลายพันธุ์ และเชื้อพันธุ์ผสมติดต่อไปสู่คนและสัตว์อื่น ต่างจากการติดเชื้อในนกน้ำซึ่งเป็นแหล่งเก็บเชื้อโรคโดยไม่แสดงอาการป่วย เชื้อที่แยกได้จากนกน้ำไม่ใคร่พบ antigenic drift และ antigenic shift

       เชื้อไวรัส H1N1 ที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1918 เดิมเชื่อว่าเป็นเชื้อไวรัสพันธุ์ผสมระหว่างไวรัสของนกกับไวรัสของคนโดยติดเชื้อในหมูพร้อมกันทำให้ได้ไวรัสพันธุ์ผสม เป็นสาเหตุของการระบาดรุนแรงในคน แต่จากการนำชิ้นเนื้อจากผู้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1918 มาศึกษาสารพันธุกรรมของเชื้อ H1N1 พบว่าเป็นไวรัสของนกที่มายังคนโดยตรงเช่นเดียวกับที่พบในการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 สำหรับเชื้อ H2N2 และ H3N2 ที่ระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1957 และ 1968 เป็น avian reassortantโดยได้ H2 และ H3 จากไวรัสของนกผสมกับไวรัสของคน ไวรัสพันธุ์ผสมจะคัดเลือกสายพันธุ์จนเหมาะที่จะติดเชื้อในคนจึงเกิดโรคระบาด เข้าใจว่าเป็นผลจาก receptor selective pressure นอกจากนี้ในปัจจุบันพบเชื้อ H3N2, H1N1 และ H5N1 กลายพันธุ์ในผู้ที่ใช้ยา Osetamivir เกิดเชื้อดื้อยาเป็นผลจาก antiviral drug selective pressure

       ในเดือนกรกฎาคม 2549 พบการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทยกลับมาเป็นรอบที่ 4 สัตว์ปีกป่วยตายและมีผู้ป่วยในหลายจังหวัด จึงใคร่เสนอความคิดเห็นในการปฏิบัติและการศึกษาวิจัยใน 4 ประเด็น คือ

  1. ขอความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างตรวจอย่างถูกวิธี ถูกเวลา ตัวอย่างที่ดีคือ nasopharyngeal aspirate รองลงมาคือ nasopharyngeal wash ในรายที่สงสัยควรเก็บหลายครั้งในระหว่างป่วย ถ้าผู้ป่วยมีอาการระบบอื่น เช่น อุจจาระร่วง ขอให้เก็บอุจจาระส่งด้วย ถ้ามีอาการทางสมอง ขอให้ส่งน้ำไขสันหลังด้วยและขอให้ส่งตัวอย่างเลือดจะเป็นซีรัมคู่ (หรือพลาสมา) ด้วยทุกราย เจาะเก็บวันแรก และ 7 - 21 วันต่อมา
  2. ควรมีการศึกษาประเมินผลการใช้น้ำยาตรวจรวดเร็วในการตรวจ H5N1ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ในรายที่ตรวจพบผลบวก เก็บตัวอย่างในวันที่เท่าใดหลังเริ่มป่วย
  3. ในการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์หรือเชื้อพันธุ์ผสม เชื้อที่เฝ้าดูอยู่อาจเป็น H5N1, H1N1 หรือ H3N2 จำเป็นต้องแยกเชื้อให้ได้ เชื้อพันธุ์ผสมที่จะเป็นสาเหตุการระบาดใหญ่ในอนาคตอาจเป็นเชื้อที่มี H และ N ทัยป์ใดก็ได้ แต่มีสารพันธุกรรมภายในที่ต่างจากเดิม อาจเป็นส่วน PB2, PB1, PA, หรือยีนอื่น การเก็บซีรัมผู้ป่วยระยะเริ่มป่วยและระยะ 2 - 4 สัปดาห์ต่อมา ศึกษาร่วมกับลักษณะเชื้อที่แยกได้ จะบอกได้ว่าเชื้อกลายพันธุ์หรือเกิดพันธุ์ผสม
  4. เน้นมาตรการป้องกันและควบคุมในเรื่องการรายงาน, การแยก, การล้าง, การเตรียมและปรุงอาหาร สัตว์กินเนื้อหลายชนิดติดเชื้อไข้หวัดนกโดยการกินซากไก่ดิบหรือซากนกที่ติดเชื้อ ความหวังเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่จะระบาดทั่วโลกได้ทันเวลามีน้อย และในอนาคตจะพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น การป้องกันโดยพฤติกรรมที่ส่งเสริมความปลอดภัย (non pharmacentical measures) จะช่วยป้องกันและลดโรคระบาดอื่นๆทั้งทางการหายใจ เช่น วัณโรค และทางการกิน เช่น salmonellosis ด้วย

       สมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนของโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ความร่วมมือระหว่าง US CDC และกระทรวงสาธารณสุข, ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานเสริมสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐได้ปฏิบัติอยู่ อาทิเช่น จัดประชุมวิชาการในด้านเทคนิค, จัดทำ website ของสมาคมฯ, จัดทำตำราไข้หวัดใหญ่ / ไข้หวัดนก และสนับสนุนงานของห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชน

       ปรากฎการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกโดยไวรัสจากนกมาสู่คน กลับมาท้าทายความสามารถของวงการแพทย์และสาธารณสุขในปัจจุบัน ผลงานของนักไวรัสวิทยาที่เฝ้าระวังไวรัสไข้หวัดใหญ่มาตลอดเวลากว่า 60 ปี จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตได้ดีกว่าการระบาดครั้งต้นศตวรรษที่ 20 เพียงใด.

 

<<back