ห้องแยกสำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก H5N1 และ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในระยะระบาดใหญ่

บรรยายโดย พ.ญ.จริยา แสงสัจจา


        การแพร่กระจายเชื้อของโรคไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่คือ ผ่านทางฝอยละอองขนาดใหญ่ (droplet transmission) และการสัมผัส (contact transmission) เสมหะ,สารคัดหลั่งจากสัตว์ปีกป่วยหรือผู้ป่วย อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่าเชื้อ Influenza สามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมแออัดมีการระบายอากาศไม่ดี หรือเสมหะของผู้ป่วยถูกทำให้เป็นฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน เช่นจากการพ่นยา ดังนั้นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดนกจึงต้องใช้หลักการของทั้ง Standard Precautions, และ Expanded precautions ทั้ง 3 วิธี นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปฏิบัติตามหลักการ Respiratory Hygiene/Cough Etiquette ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยเน้นที่การควบคุมที่แหล่งแพร่เชื้อ การแยกผู้ป่วยต้องสงสัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตามหลักการdroplet precautionsอย่างเคร่งครัด

         สำหรับห้องที่ใช้แยกผู้ป่วยนั้น แนะนำให้ใช้ Airborne Infection Isolation Room (AIIR) ถ้าสามารถทำได้ หากไม่มีห้องดังกล่าว อาจใช้ห้องเดี่ยว ที่มีห้องน้ำในตัว ปิดประตูห้องขณะมีผู้ป่วยอยู่ และมีพัดลมระบายอากาศออกสู่ภายนอกในปริมาณ ไม่น้อยกว่า 12 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง (12 ACH) ห้อง AIIR หรือ modified AIIR มีหลักการพื้นฐานที่สำคัญคือ

  1. มีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อออกสู่ภายนอกห้อง โดยใช้วิธีการสำคัญ 2 ประการคือ การสร้างความดันภายในห้องให้เป็นลบ เมื่อเทียบกับอากาศรอบห้อง (ไม่น้อยกว่า -2.5 Pa) และการปิดรูรั่วของห้องโดยเฉพาะที่ฝ้าเพดาน,ขอบประตู , หน้าต่าง (รูรั่วไม่มากกว่า 0.5 ตารางฟุต)

  2. มีการเจือจางและขจัดสิ่งปนเปื้อนในอากาศภายในห้อง

    2.1 การเจือจางสิ่งปนเปื้อนในอากาศภายในห้องกระทำโดยการเติมอากาศเข้าสู่ห้องไม่น้อยกว่า 2 เท่าของปริมาตรห้องต่อชั่วโมง (2 ACH)

    2.2 การขจัดสิ่งปนเปื้อนในอากาศภายในห้องกระทำโดยการใช้ HEPA filter เป็นอุปกรณ์หลัก โดยชุดของ HEPA filter ต้องอยู่ในท่อลมของเครื่องปรับอากาศ และ ท่อทางออกของอากาศสู่ภายนอก (exhaust duct) หรืออยู่ที่ exhaust duct ในกรณี modified AIIR สำหรับการใช้ UV light ในการขจัดเชื้อโรคไม่สามารถทดแทน HEPA filter ได้แต่อาจใช้ UV light เป็นอุปกรณ์เสริม ทั้งนี้ต้องติดตั้งในท่อลมเช่นเดียวกัน

  3. ทิศทางลมภายในห้องผู้ป่วย เป็นไปในลักษณะที่ผู้ป่วยอยู่ใต้ลม โดยตำแหน่งของหัวจ่ายลมและท่อทางออกของลม จะเป็นตัวกำหนดทิศทางลมนี้

         สำหรับห้องผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในระยะระบาดใหญ่หากห้องเดี่ยวมีจำนวนไม่เพียงพอแนะนำให้ใช้ Cohort ward คือ หอผู้ป่วยรวมเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรมีลักษณะโปร่งไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ระยะห่างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า3 ฟุต อาจมีม่านกั้นระหว่างเตียง โดยวัสดุที่ใช้ทำม่านต้องมีผิวเรียบเช็ดทำความสะอาดง่าย หอผู้ป่วยดังกล่าวต้องอยู่ห่างจากหอผู้ป่วยโรคอื่นๆ โดยเฉพาะหอผู้ป่วยสำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดผลแทรกซ้อน จากโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตามการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลในระยะระบาดใหญ่ควรพิจารณารับเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้นส่วนผู้ที่มีอาการน้อยให้ดูแลที่บ้าน การใช้โรงพยาบาลสนามอาจมีความจำเป็น หากสถานการณ์การระบาดรุนแรงมากทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระของสถานพยาบาล

<<back