Avian Influenza in Human and Animal

บรรยายโดยนพ.สมชาย พีระปกรณ์
สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

        ได้ทบทวนความรู้เรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ สรุปภาพรวมของสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ตลอดจนพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระดับหน่วยงานและประชาชนไว้ดังนี้

ความรู้เรื่องโรคและสถานการณ์

        ไข้หวัดใหญ่ของคน (seasonal influenza) เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคได้ ต่างจากไข้หวัดนก (avian influenza) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ปีกสู่คน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันโรคได้ สำหรับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ (pandemic influenza) เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนที่ในอดีตเกิดมีขึ้นแล้วหลายครั้ง (ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2511) แต่ละครั้งทำให้ผู้คนป่วยและตายจำนวนมากทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่สังคมมนุษย์

         เชื้อไข้หวัดนกเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จำแนกเป็นชนิดย่อย (subtype) ได้เกือบ 150 ชนิดย่อย เชื้อที่สามารถก่อโรคในคนได้มีหลายตัว แต่เชื้อ A/H5N1 เป็นตัวสำคัญที่ก่อโรคในคนและสัตว์ปีกได้มากและรุนแรง ทำให้คนตายไปแล้วนับถึง 26 กรกฎาคม 2549 จำนวน 134 คนใน 10 ประเทศ และยังแพร่ไปไม่หยุดยั้งในสัตว์ปีกที่ประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 3 ทวีปในโลก เชื้อไข้หวัดนกขึ้นชื่อว่าเป็นเชื้อที่เปลี่ยนแปลงตนเองไปตลอดเวลาและคาดเดาไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด (unstable และ unpredictable) จึงมีโอกาสปรับตัวจนกลายเป็นเชื้อชนิดใหม่ (pandemic strain) ที่ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (pandemic influenza) ขึ้นได้

         ปัญหาไข้หวัดนกจึงสรุปใจความสำคัญได้ 4 ประการดังต่อไปนี้

  1. การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและด้วยความรุนแรงขนาดไหน
  2. ไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ (พูดถึงไข้หวัดนกต้องนึกถึงไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่)
  3. เราต้อง ควบคุมไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ในขณะเดียวกับที่ต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่
  4. ภารกิจในการควบคุมไข้หวัดนกและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่นั้น จะสำเร็จได้ถ้าทุกภาคส่วนของสังคมต่างมีบทบาทและร่วมมือกันไม่เพียงแต่ภายในประเทศ แม้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้


         จะรับมือกับภัยคุกคามจากไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่อย่างไร
องค์การอนามัยโลกมีหน้าที่ประสานงานกับนานาประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกในคน และเฝ้าติดตามภัยคุกคามจากการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

         ในสถานการณ์ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกถือหลักปฏิบัติสำคัญ 5 ประการดังนี้

  1. ลดโอกาสที่คนจะสัมผัสเชื้อไข้หวัดนก
  2. เพิ่มความเข้มข้นของระบบเตือนภัยทั้งระดับชาติและนานาชาติ
  3. เข้าสอบสวนและควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที
  4. พัฒนาความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรับมือการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่
  5. ประสานความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย

      เพื่อพัฒนาวัคซีนและวางแผนขยายศักยภาพในการผลิตและการกระจายวัคซีนให้รวดเร็ว ทั่วถึงและเพียงพอ
ประชาชนต้อง “รายงาน แยก ล้าง ปรุง”

      มีคำแนะนำที่จำง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป คือ “รายงาน, แยก, ล้าง, ปรุง”

  1. รายงาน (การตายหรือป่วยที่ผิดปกติของสัตว์ปีก นกป่า หรือสัตว์อื่นและการป่วยของคนหลังจากสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย)
  2. แยก (สัตว์ปีกฝูงใหม่จากฝูงเก่าไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์, สัตว์ปีกจากนกป่า, สัตว์ปีกจากสัตว์อื่น, สัตว์ปีกจากที่อยุ่อาศัยของคน, สัตว์ปีกจากเด็ก, และรู้จักวิธีการกำจัดซากสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยโดยการฝังหรือเผา)
  3. ล้าง (มือด้วยสบู่และน้ำโดยเฉพาะหลังสัมผัสสัตว์ปีกและก่อนและหลังประกอบอาหาร, ทำความสะอาดเสื้อผ้า รองเท้า ยางรถยนต์ กรงสัตว์ปีกด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค)
  4. ปรุง (อาหารจากสัตว์ปีกอย่างถูกสุขลักษณะทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมของดิบ การปรุงให้สุกและการรับประทาน)

 

<<back