ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ (Influenza Virus in Animals)

บรรยายโดย ส.พญ. ดร. สุดารัตน์ ดำรงค์วัฒนโภคิน
สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว

        เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) เป็นไวรัสชนิด RNA ที่มีเปลือกหุ้ม จัดอยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae แบ่งได้ 3 types คือ A, B และ C Type A พบในคน และสัตว์ เฉพาะ type A เท่านั้นที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ สำหรับ Type B และ C ไม่มี subtypes พบเฉพาะในคน แต่เคยมีรายงานการแยกเชื้อ Type C ได้ในสุกรโดยสุกรไม่แสดงอาการป่วย นกน้ำ (water fowl) ติดเชื้อได้ทุก subtypes โดยไม่แสดงอาการ จึงทำหน้าที่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้กับสัตว์ชนิดอื่นๆ เนื่องจาก เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็น RNA virus และสารพันธุกรรมมีลักษณะเป็นชิ้นจำนวน 8 ชิ้น จึงมีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงและแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างเชื้อได้ค่อนข้างง่าย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจนที่เรียกว่า “ Antigenic drift และ Antigenic shift” Antigenic drift เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ Antigenic shift เป็นการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งได้ H หรือ N subtype ใหม่ ที่ร่างกายไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรมีการเฝ้าระวังและศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะสามารถเลือกเชื้อไวรัสที่เหมาะสมในการผลิตวัคซีนสำหรับคนหรือสัตว์ หรือใช้เป็นข้อมูลทางระบาดวิทยาในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค

        เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในม้า (Equine influenza virus, EIV) พบ 2 subtypes คือ H3N8 และ H7N7 ปัจจุบันมีรายงานการตรวจพบ H3N8 subtype ในสุนัขที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และพบมีการระบาดอย่างรวดเร็วในกลุ่มสุนัข ทำให้สุนัขป่วย และแพร่เชื้อให้สุนัขตัวอื่นๆ ได้ จากการศึกษาลักษณะของเชื้อทางด้านพันธุกรรมพบว่าเชื้อมีต้นกำเนิดมาจาก H3N8 subtype ในม้า จะเห็นได้ว่า EIV H3N8 ปรับตัวได้ดีจนสามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนและแพร่เชื้อได้เป็นวงกว้างในฝูงสุนัข ทำให้เกิดการติดเชื้อข้าม species ได้เป็นผลสำเร็จ ในสุกรมีรายงานการตรวจพบ swine influenza virus (SIV) 3 subtypes หลักๆ คือ H1N1, H3N2 และ H1N2 มักพบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากคนไปสุกร หรือจากสุกรไปยังคนอยู่บ่อยๆ เนื่องจากสุกรมีตัวรับบนผิวเซลล์ที่สามารถจับกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มาจากสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ สุกรจึงเปรียบเหมือนถังผสม “mixing vessel” เมื่อมีการติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดในเซลล์เดียวกันอาจทำให้เกิด “ reassortment ” ได้ไวรัสตัวใหม่เกิดขึ้น (reassortant virus) สำหรับในสัตว์ปีก มีรายงานการตรวจพบ avian influenza virus (AIV) H1-H16 และ N1-N9 AIV ส่วนใหญ่เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง (Low pathogenic avian influenza virus, LPAIV) เชื้อชนิดรุนแรง (highly pathogenic avian influenza virus, HPAIV) มักเป็น H5 และ H7 subtypes แต่เชื้อ H5 และ H7 ส่วนใหญ่ มักเป็น LPAIV แต่เนื่องจากทั้ง H5 และ H7 มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเป็นเชื้อชนิดรุนแรงได้ค่อนข้างง่าย จึงจัดเชี้อในกลุ่มนี้เป็น Notifiable avian influenza virus, NAIV) ตามข้อกำหนดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เมื่อพบ H5 และหรือ H7 subtype จะต้องทำลายสัตว์เหล่านั้นและแจ้งให้ OIE ทราบ สำหรับไข้หวัดนก H5N1 subtype ซึ่งมีการระบาดในปัจจุบัน เชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องผ่านเข้าสุกร เพราะเชื้อไวรัสสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในคนได้แต่มีข้อจำกัด ถ้าไวรัสสามารถปรับตัวได้ดีจนทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่าย จะทำให้เกิด “Pandemic Influenza” ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจะมี Pandemic influenza เกิดขื้น และดูเหมือนว่าH5N1 subtype อาจเป็น candidate ที่ทำให้เกิด Pandemic influenza ในครั้งถัดไป

         กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการในการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกภายใต้นโยบาย “ตรวจพบเร็ว ควบคุมเร็ว และป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” มีการค้นหาเชื้อทั้งจากการทำ passive and active surveillance โดยมีการเฝ้าระวังทางคลินิกในสัตว์ปีกทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การเฝ้าระวังในสัตว์ปกติโดยการทำ X-ray surveillance อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก การตรวจหน้าโรงเชือด การรณรงค์การทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ร่วมกับการปรับระบบการเลี้ยง การใช้ตาข่ายป้องกันนกในคอกหรือโรงเรือนที่มีการเลี้ยงแบบชาวบ้าน เน้นเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ และการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตัว รวมทั้งสุขอนามัยส่วนบุคคล

         งานวิจัยที่กาลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันคือการศึกษาลักษณะทางแอนติเจนและสารพันธุกรรมของเชื้อ ไวรัส H5N1 เพื่อดูการกลายพันธุ์ของเชื้อ การศึกษาเชื้อ LPAIV ที่แยกได้จากเป็ดและสัตว์ปีกอื่นๆ การพัฒนาวิธีการชันสูตร วัคซีน และชุดทดสอบสำหรับใช้ในสัตว์ การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ต่างๆ นกอพยพ และนกประจำถิ่น และการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ โดยทำงานในลักษณะที่เป็นเครือข่ายทางด้านการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และเอกชน นอกจากนั้นยังได้จัดตั้งเครือข่ายการชันสูตรโรคและระบาดวิทยาในประเทศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และ เอกชน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในการตรวจยืนยันและถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่แยกได้ นอกจากนั้นยังได้มีการปรับปรุงห้องสัตว์ทดลองและสร้างห้องปฏิบัติความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 3 (BSL-3) เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและการยอมรับตามมาตรฐานสากล

<<back